หน่วย GSM ในผ้า vs หน่วย Gram ในกระดาษ – หน่วยเดียวกันแต่ใช้งานต่างกัน
ในการเลือกใช้วัสดุทั้ง ผ้าและกระดาษ หลายคนอาจสังเกตเห็นว่ามีการใช้หน่วย GSM (Grams per Square Meter – กรัมต่อตารางเมตร) ในการบอกน้ำหนักของวัสดุ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว GSM ของผ้า และ แกรมของกระดาษ มีความหมายและผลต่อการใช้งานที่แตกต่างกัน แม้จะใช้หน่วยเดียวกัน
GSM ของผ้าคืออะไร?
GSM (Grams per Square Meter) เป็นหน่วยวัด น้ำหนักของผ้าในหน่วยกรัมต่อตารางเมตร (g/m²) หรือพูดง่ายๆ ว่า บอกถึงน้ำหนักผ้า ซึ่งจะส่งผลกับความหนาของผ้า ซึ่งมาจากการทอแน่นของเส้นใย คือขนาดของเส้นด้ายที่ใช้ทอผ้า
- GSM สูง → ผ้าจะหนาและหนักขึ้น ทนทานขึ้น (ขึ้นอยู่กับการใช้งานและชนิดของเส้นใย)
- GSM ต่ำ → ผ้าจะบางและเบากว่า พลิ้วไหวมากขึ้น
ค่ามาตรฐานของ GSM ในผ้าตกแต่งบ้าน
ประเภทผ้า | ค่า GSM (g/m²) | ลักษณะและการใช้งาน |
---|---|---|
ผ้าม่านโปร่ง (Sheer Fabric) | 80 – 150 GSM | เนื้อบางเบา ให้แสงผ่านได้ ดูโปร่งโล่ง |
ผ้าม่านทึบแสง (Dimout Fabric) | 200 – 350 GSM | กรองแสงได้บางส่วน เหมาะกับห้องนั่งเล่น |
ผ้าม่านกันแสง (Blackout Fabric) | 350 – 500 GSM | ป้องกันแสงแดด 90-100% เหมาะกับห้องนอน |
ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ (Upholstery Fabric) | 300 – 600 GSM | หนา ทนทาน กันการขีดข่วนและแรงดึง |
ค่า GSM มีผลต่อความหนา ทิ้งตัว และความทนทานของผ้า
GSM สูง = ผ้าหนาและทึบ | GSM ต่ำ = ผ้าบางและโปร่ง
Gram ของกระดาษคืออะไร?
Gram (แกรม) ของกระดาษ เป็นหน่วยวัด น้ำหนักของกระดาษในหน่วยกรัมต่อตารางเมตร (g/m²) เช่นเดียวกับ GSM ของผ้า แต่ในบริบทของกระดาษ แกรมไม่ได้บอกถึงความหนาของกระดาษโดยตรง เพราะความหนาของกระดาษยังขึ้นอยู่กับประเภทของเยื่อกระดาษและกระบวนการผลิต
- แกรมต่ำ → กระดาษบาง เบา และพับง่าย
- แกรมสูง → กระดาษหนาและแข็งแรงขึ้น
ค่ามาตรฐานของแกรมในกระดาษ
ประเภทกระดาษ | ค่าแกรม (g/m²) | ลักษณะและการใช้งาน |
---|---|---|
กระดาษถ่ายเอกสาร | 70 – 80 g/m² | บาง เบา ใช้พิมพ์เอกสารทั่วไป |
กระดาษปอนด์ | 100 – 120 g/m² | ใช้พิมพ์หนังสือ รายงาน |
กระดาษอาร์ตมัน / อาร์ตด้าน | 130 – 300 g/m² | ใช้ทำโปสเตอร์ ใบปลิว นิตยสาร |
กระดาษการ์ด / กล่อง | 250 – 400 g/m² | ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ นามบัตร กล่องสินค้า |
น้ำหนักกระดาษที่สูงขึ้น (แกรมมากขึ้น) หมายถึงน้ำหนักของกระดาษต่อหนึ่งตารางเมตรที่มากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปมักส่งผลให้กระดาษมีความหนาและแข็งมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ตัวอย่างเช่น กระดาษปอนด์ 150 แกรม และกระดาษอาร์ต 150 แกรม มีน้ำหนักเท่ากันต่อหนึ่งตารางเมตร แต่เมื่อเปรียบเทียบความหนา กระดาษปอนด์จะหนากว่ากระดาษอาร์ต เนื่องจากกระบวนการผลิตของกระดาษปอนด์จะทำให้กระดาษมีความฟูและผิวไม่เรียบเนียนเท่ากระดาษอาร์ต ขณะที่กระดาษอาร์ตจะผ่านกระบวนการที่ใช้แรงกดสูง ทำให้เนื้อกระดาษมีความแน่นกว่า ส่งผลให้กระดาษอาร์ตที่มีน้ำหนักเท่ากับกระดาษปอนด์ดูบางกว่าเล็กน้อย แต่จะมีความแกร่งมากกว่า
GSM ของผ้า vs. Gram ของกระดาษ
เปรียบเทียบ | GSM ของผ้า | Gram ของกระดาษ |
---|---|---|
หน่วยวัด | กรัมต่อตารางเมตร (g/m²) | กรัมต่อตารางเมตร (g/m²) |
การเขียน | ….. g/m² …… GSM | ….. g/m² …… GSM ….. Gram ….. g |
วัดอะไร? | น้ำหนักและความหนาแน่นของเส้นใยผ้า | น้ำหนักของกระดาษ |
ค่าเพิ่มขึ้นแปลว่า? | ผ้าหนาและหนักขึ้น | กระดาษหนาและแข็งขึ้น (แต่ไม่จำเป็นต้องหนาขึ้นเสมอไป) |
ตัวอย่างค่า | 100-600 GSM (ผ้าม่าน, ผ้าบุ) | 70-400 g/m² (กระดาษ) |
ผลต่อการใช้งาน | มีผลต่อการทิ้งตัว ความโปร่งแสง และความทนทาน | มีผลต่อความแข็ง ความหนา และการพิมพ์ |
GSM ในผ้าหมายถึง “น้ำหนักและความหนาแน่นของเส้นใย”
แกรมของกระดาษหมายถึง “น้ำหนักของกระดาษ” ซึ่งไม่ได้บอกถึงความหนาโดยตรง
ทำไมผ้าใช้ GSM แต่กระดาษคนไทยเรียกว่า “แกรม”
หลักการวัดเหมือนกัน:
ทั้งผ้าและกระดาษใช้ น้ำหนักต่อ 1 ตร.ม. (g/m²) เป็นมาตรฐาน
ทำไมผ้าใช้ GSM?
GSM (grams per square meter) เป็นมาตรฐานที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลก เพื่อประเมินความหนา ความโปร่ง และความหนักเบาของผ้า จึงนิยมระบุเป็นหน่วย GSM เช่น ผ้าเสื้อยืด 180 gsm หรือผ้าม่าน 250 gsm เป็นต้น
ทำไมกระดาษ “แกรม”?
กระดาษก็ใช้หลักการเดียวกัน คือวัดน้ำหนักต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร (g/m²) เช่นเดียวกับผ้า
ในประเทศไทย เรียก “แกรม” มาจากคำว่า “gram” (กรัม) โดยเกิดจากการ ถอดเสียง (Transliteration) ตามเสียงภาษาอังกฤษ “gram” ที่ออกเสียงว่า /ɡræm/ กลายเป็น “แกรม” ในภาษาไทย
เนื่องจากคำเต็ม “grams per square meter” มีความยาว คนไทยจึงนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “แกรม”
ในงานพิมพ์สากล จะใช้ gsm หรือ g/m² แต่ในประเทศไทยนิยมพูดว่า “แกรม” เช่น “กระดาษ 150 แกรม”