fbpx

ย้อมสีแบบแครอท VS แตงกวา

เปิดมาแบบนี้รับรองว่าทุกคนได้ยินหัวข้อนี้แล้วรับรองว่างงแน่ๆ จริงๆแล้วมันคือการเปรียบเทียบคุณสมบัติการย้อมสีที่ต่างกัน ส่วนมันจะอะไรยังไงนั้นไปกันเลย

ในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอ ขั้นตอนการย้อมสีเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพื่อให้ผ้าที่เราได้นั้นมีสีสันที่สวยงาม คงทนต่อแสงและการซัก ซึ่งโดยปกติแล้วในการย้อมผ้าทั่วๆ ไป ทั้งในอุตสหกรรมเคหะสิ่งทอ หรือ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเองก็ตามเราจะ รู้จักขั้นตอนในการย้อมหลัก เพียง Yarn dyed คือการย้อมสีตั้งแต่เป็นเส้นด้าย และค่อยนำเส้นด้ายนั้นไปทอเป็นผืนผ้า และ Piece-dyed คือการย้อมสีในขั้นตอนที่เป็นผืนผ้าแล้วนั้นเอง หรือในอุตสาหกรรมแฟชั่นก็จะมีการย้อมที่เรียกว่า Clothes Dyed คือการที่เราตัดเเย็บเสื้อผ้าสำเร็จออกแล้วค่อยนำไปย้อมนั้นเอง (อ่านบทความเรื่อง ย้อมก่อนทอ หรือทอก่อนย้อมดี? ที่นี้)

ซึ่งจริงๆ แล้วขั้นตอนการย้อมสีผ้ายังมีขั้นตอนที่ก่อนจะเป็นเส้นด้ายอีก คือการย้อมตั้งแต่เป็นเส้นใย Fiber Dyed คือการย้อมสีไปที่เส้นใยผ้าก่อนที่จะนำเส้นใยเหล่านั้นมารวมๆกัน แล้วตีเกียวเป็นเส้นด้ายนั้นเอง แต่นั้นก็ยังไม่ถึงขั้นตอนของเราในบทความนี้ การย้อมที่บทความนี้จะกล่าวถึงคือการย้อมที่เรียกว่า Solution Dyed หรือ Dope Dyed เป็นการย้อมที่ใช้ในเส้นใยสังเคราะห์ เช่นอะคริลิค ไนลอนและโพลีเอสเตอร์ ซึ่งโดยทั่วไปในขั้นตอนผลิตจะเริ่มจาก เม็ดพลาสติกหลอมแหลวแล้วฉีดขึ้นรูป เป็นเส้นใยยาว (Filament filter) เหมือนการทำเส้นขนมจีน (เป็นการเปรียบเทียมให้เห็นภาพ ซึ่งจริงๆแล้วการขึ้นรูปเส้นใยพลาสติก (พอลิเมอร์) มีหลากหลายวิธี ทั้งการหลอมละลายแล้วฉีด ทั้งการฉีดใต้สารละลาย เป็นต้น)

Solution Dyed จะเป็นการย้อมสี หรือใส่สีในขั้นตอนที่ตัวเม็ดพลาสติกกำลังหลอมละลาย ก่อนจะถูกฉีดออกมาเป็นเส้นใย สีจะเป็นเนื้อเดียวกับตัวเส้นใยนั้นเลย เหมือนเราผสมสีลงไปที่แป้งขนมจีนตั้งแต่แรกก่อนจะฉีดมันออกมาเป็นเส้น ไม่เหมือนวิธีการย้อมสีในขั้นตอนอื่นๆ ที่สีจะเคลือบหรือแทรกซึมเข้าไปในเส้นใยส่วนหนึ่งแต่ไม่เป็นสีนั้นทั้งเส้น จึงมีการเปรียบเทียบกันว่า Solution Dyed เหมือนแครอท และการย้อมแบบอื่นๆ คือแตงกวา (ในต่างประเทศเค้าจะเปรียบเทียบโดย เทียบแครอท กับ Radish หรือหัวไชเท้าแดง หัวไซเท้าที่ทรงเหมือนบีทรูท ด้านนอกแดงข้างในขาว แต่คนไทยหลายคนอาจไม่รู้จักกกับผักชนิดนี้)

ซึ่งแครอทเมื่อเราหั่นตัดขวางเป็นแว่นๆ สีด้านในของหัวแครอทก็ยังสีส้มเหมือนกับผิวด้านนอก ส่วนแตงกวานั้น เมื่อหั่นเป็นแว่นๆ จะเห็นเป็นสีขาวๆ เขียวๆ ไม่เหมือนผิวแตงกวาที่มีสีเขียวเข้ม นั้นเอง เหตุนี้จึงใช้ แครอทและแตงกวาเป็นการเปรียบเทียบการย้อมสีที่สามารถเป็นสีเดียวทั้งเส้นไม่ได้แค่เคลือบอยู่แค่รอบนอก นั้นเอง

การย้อมแบบ Solution Dyed ช่วยให้ผ้าสีไม่ตกจากการซัก หรือแม้กระทั่งการใช้สารฟอกขาวชนิดอ่อนๆ เนื่องจากสีเป็นเนื้อเดียวกับเส้นใยทั้งหมด เหมาะสำหรับร้านอาหาร โรมแรมโซนรับประทานอาหารเช้า ที่มักเจอกับปัญหาคราบสกปรกบ่อยๆ และผ้ากลุ่มกลางแจ้ง หรือผ้า Outdoor ส่วนใหญ่ทำด้วยเส้นด้าย Solution Dyed ทำให้มีความคงทนต่อแสงแดด ผ้าไม่ซีดจางง่าย และยังช่วยให้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย โดยไม่ต้องกังวนเรื่องการซีดจางจากการซัก ซ้ำๆ หลายๆ ครั้งได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรอยเปื้อนอีกต่อไป ข้อเสียของผ้า Solution Dyed คือจะไม่สดใส เท่ากับการย้อมแบบ Yarn dyed หรือการย้อมในขั้นตอนที่เป็นเส้นด้าย และจะมีต้นทุนสูงกว่าการย้อมโดยทั่วไปเพราะต้องตัดสินใจตั้งแต่แรกเลยว่าต้องการสีใด ไม่สามารถผลิตจำนวนมากๆ แบบการย้อม Piece Dyed ที่สามารถทอผ้าขาวในจำนวนมากๆ เก็บไว้แล้วค่อยๆ แบ่งไปย้อมแต่ละสี ตามต้องการได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนเป็นอย่างมาก


เปิดดูตัวอย่างผ้าเอาท์ดอร์ของเรา

ข้อมูลเชิงลึกและผลการทดสอบผ้ากลุ่มเอาท์ดอร์


สรุปทิ้งท้ายลำดับการย้อมสีในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งมีขั้นตอนในการย้อมในแต่ละช่วงของการผลิต เรียงจากต้นไปถึงปลายขั้นตอนดังนี้

  1. Solution Dyed /Dope Dyed: กระบวนการนี้เป็นการใส่สีลงไปในการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ สีจะถูกเติมลงในขั้นการตอนละลายโพลิเมอร์ก่อนที่จะฉีดออกมาเป็นเส้นใย
    • ข้อดี: สีสม่ำเสมอทั่วทั้งผืนผ้า ทนต่อการซีดจางต่อการซัก/แสงแดด สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะใช้น้ำและพลังงานน้อยลงในการย้อมผ้า
    • ข้อเสีย: ต้องตัดสินใจตั้งแต่แรกเลยว่าต้องการสีใด ไม่สามารถผลิตจำนวนมากๆ แบบการย้อม Piece Dyed ที่สามารถทอผ้าขาวในจำนวนมากๆ เก็บไว้แล้วค่อยๆ แบ่งไปย้อมแต่ละสี ตามต้องการได้
  2. Fiber Dyed: สามารถย้อมสีได้ทั้งในเส้นใยธรรมชาติ และเส้นใยสังเคราะห์ ย้อมในส่วนเส้นใยก่อนที่จะปั่นเป็นเส้นด้าย
    • ข้อดี: มีความคงทนของสีมากที่สุดรองจาก Solution Dyed เท่านั้น นิยมใช้ขั้นตอนนี้ในการย้อมสีของเส้นใยสังเคราะห์ที่ติดสียากอย่างเช่น Acrylic, Nylon, Polyethylene, Polypropylene เป็นต้น และสามารถทำให้เส้นด้าย 1 เส้น มีสีสลับอ่อนเข้ม หรือมีสองสีในด้ายเส้นเดียวกัน โดยการผสมเส้นใยที่ย้อมสีต่างกันก่อนจะนำไปปั่นตีเกียวเป็นเส้นด้ายนั้นเอง
    • ข้อเสีย: มีราคาแพงมากกว่า Yarn Dyed และอาจทำให้เส้นใยเสียหายได้ มีการใช้น้ำในกระบวนการย้อม และปัญหาการปล่อยน้ำเสีย
  3. Yarn Dyed: สามารถย้อมสีได้ทั้งในเส้นใยธรรมชาติ และเส้นใยสังเคราะห์ ก่อนที่จะทอหรือถักเป็นผ้า
    • ข้อดี: สามารถทำให้ผ้า 1 ผืนมีสีได้มากกว่า 2 สี ขึ้นไป เพราะสามารถใช้ด้ายที่ต่างสีกัน ทอร่วมกันได้ตามจำนวนสีด้ายที่ต้องการ เกิดมีมิติของสีที่หลากหลายในผืนเดียวกัน มีความคงทนของสีมากว่าแบบ Piece Dyed
    • ข้อเสีย: จำเป็นต้องสต็อกสีของเส้นด้ายไว้เป็นจำนวนมากไว้เผื่อในการผลิต และด้วยเหตุนี้ทำให้ผ้า Yarn Dyed มีสีสันให้เลือกน้อยกว่าและมีราคาแพงมากกว่า Piece Dyed มีโอกาสสีตกและสีซีดจางบ้างเล็กน้อย มีการใช้น้ำในกระบวนการย้อม และปัญหาการปล่อยน้ำเสีย
  4. Piece Dyed: สามารถย้อมสีได้ทั้งในเส้นใยธรรมชาติ และเส้นใยสังเคราะห์ หรือแม้กระทั่งผ้าที่มีเส้นใยผสมก็ตาม
    • ข้อดี: สามารถทอผืนผ้าดิบสีขาวเก็บได้ในปริมาณมากๆ แล้วแบ่งมาย้อมเป็นสีต่างๆได้ง่าย ประหยัดต้นทุน และมีความสม่ำเสมอของสีที่ดี
    • ข้อเสีย: ในผ้าหนึ่งผืนที่มีเส้นใยชนิดเดียวก็จะสามารถย้อมได้เพียง 1 สีเท่านั้น ถ้าต้องการให้ผ้า 1 ผืนมีมากกว่า 1 สี จำเป็นต้องออกแบบให้ผ้านั้นมีส่วนผสมของเส้นใยที่กินสี (ดูดซับสี) ต่างกัน เช่น Polyester และ Cotton เพราะเวลาย้อมสี เส้นใยทั้งสองชนิดจะใช้เคมีในการย้อมที่ต่างกันและ อุณหภูมิในการย้อมก็ต่างกันด้วย และอาจเกิดผ้าหดตัว ปัญหาสีตก และสีซีดจางได้ มีการใช้น้ำในกระบวนการย้อมจำนวนมาก และปัญหาการปล่อยน้ำเสีย
  5. Clothes Dyed: การย้อมเสื้อผ้าสำเร็จรูป (สำหรับอุตสหกรรมแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย)
    • ข้อดี: ทำให้มีเทคนิคในการย้อมสีได้หลากหลาย เช่นการมัดย้อม การย้อมไล่สี การย้อมเฉพาะส่วนที่มีความต่อเนื่องของส่วนตะเข็บ เป็นต้น และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าตัวเดิม
    • ข้อเสีย: การกระจายสีอาจไม่สม่ำเสมอ การหดตัวของเสื้อผ้า และมีการใช้น้ำในกระบวนการย้อมจำนวนมาก และปัญหาการปล่อยน้ำเสีย