fbpx

ย้อมก่อนทอ หรือทอก่อนย้อมดี?

การย้อมเส้นด้าย (Yarn Dyed) และการย้อมผืนผ้า (Piece Dyed) เป็นสองวิธีทั่วไปที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อเพิ่มสีสันให้กับเนื้อผ้า ความแตกต่างคือ

  • การย้อมเส้นด้าย (Yarn Dyed): เป็นการย้อมในที่เป็นเส้นด้าย ก่อนที่จะทอ (Woven) หรือถัก (Knitted) เป็นผ้า การย้อมเส้นด้ายช่วยให้ได้ลวดลายและการออกแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากสามารถนำเส้นด้ายที่มีสีต่างกันมาทอหรือถักเข้าด้วยกันเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการได้ ผ้าที่ได้จะมีสีที่สดใส และติดทนนาน เนื่องจากสีย้อมจะแทรกซึมเข้าไปในเส้นด้ายทั้งหมด
  • การย้อมผืนผ้า (Piece Dyed): วิธีนี้เกี่ยวข้องกับการย้อมผ้าทั้งผืนหลังจากที่ทอหรือถักแล้ว วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายกว่าและคุ้มค่ากว่า แต่จะจำกัดประเภทของรูปแบบที่สามารถทำได้ ผ้าที่ได้อาจมีสีที่สดใสน้อยกว่าเล็กน้อย เนื่องจากสีย้อมไม่ได้ซึมผ่านเส้นใยได้ลึกเท่าการย้อมเส้นด้าย

โดยสรุป การย้อมเส้นด้ายเหมาะสำหรับการสร้างลวดลายและการออกแบบที่สลับซับซ้อน ในขณะที่การย้อมเป็นผืนจะคุ้มค่ากว่า และมีประสิทธิภาพสำหรับผ้าสีเรียบๆ

การปรากฏของสีและลวดลายบนบนผ้าไม่ว่าจะเป็นผ้าม่าน หรือผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ที่เราเห็นสวยงามนั้น แท้จริงแล้วมีการให้สีได้หลายแบบ ดังนี้

ย้อมสีก่อนการทอ (Yarn Dyed)

เป็นกระบวนการให้สี โดยการนำเส้นด้ายไปย้อมสีก่อนการทอขึ้นเป็นผืนผ้า

  • ข้อดีคือ สามารถเก็บชุดสีด้ายเตรียมไว้สำหรับการทอได้ก่อน เมื่อมีความต้องการ สามารถสั่งผลิต หรือขึ้นตัวอย่างผ้าได้ง่ายกว่า สามารถให้สีผ้าได้มากสูงสุดถึง 12 สีในการทอหนึ่งผืน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มักใช้ชนิดเส้นด้ายและสีที่ต่างกันประมาณ 3 แบบเท่านั้น และในขณะที่กำลังทอสามารถเห็นสีจริงในขณะที่ทอได้เลย นอกจากนั้นยังเก็บสต็อกชุดสีเส้นด้ายแค่ชุดเดียว แต่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการทอ หรือลวดลายต่างกันได้หลายรูปแบบ
  • ข้อเสียคือ ต้องเก็บสต็อกชุดสีจำนวนมาก ในแต่ละชุดด้ายที่แตกต่างกัน

ทอก่อนย้อมสี (Piece Dyed)

เป็นกระบวนการให้สีหลังจากการทอผ้าเสร็จแล้ว จากนั้นจึงนำไปย้อมสี แต่ถ้าผ้าหนึ่งผืนมีความต้องการมากกว่าหนึ่งสีจะต้องทำอย่างไร คำตอบคือต้องใช้คุณสมบัติของเส้นด้ายที่กินสีแตกต่างกันนั้นเอง เช่น ต้องการผ้าที่มี 2 สีโดยเป็นผ้า Piece Dyed ในผืนผ้าต้องประกอบไปด้วยเส้นใย 2 ชนิด เช่น ฝ้าย และโพลีเอสเตอร์ ซึ่งสีที่สามารย้อมฝ้ายก็จะไม่ติดเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และในทางกลับกันสีที่ย้อมโพลีเอสเตอร์ก็จะไม่ติดฝ้ายเช่นเดียวกัน ด้วยเทคนิคนี้จึงสามารถทำให้ผ้า สามารถมี 2 สีได้

  • ข้อดีคือ สามารถทอผ้าดิบเก็บไว้จำนวนครั้งละมากๆ แล้วจึงตัดส่วนไปย้อมได้ตามคำสั่งของลูกค้าที่มีความต้องการชุดสีที่แตกต่างกันไป
  • ข้อเสียคือ ไม่สามารถมองเห็นสีจริง ได้ในขณะทอ ต้องรอจนกว่าการย้อมจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งกระบวนการย้อมต้องมีความละเอียดเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้สีด่าง หรือสีช่วงต้นม้วนและปลายม้วนออกมาไม่เสมอกัน

ในขบวนการการย้อมสิ่งทอจริงๆ แล้วมีขั้นตอน ที่ก่อนและหลังจากบทความข้างต้น ดังนี้

  1. Fiber dyeing ย้อมเส้นใย
  2. Yarn dyeing การย้อมเส้นด้าย
  3. Fabric dyeing การย้อมผืนผ้า
  4. Garment dyeing การย้อมเสื้อผ้าสำเร็จ

นอกจาก 2 กระบวนการดังกล่าวแล้วยังมีการให้สีลงบนผืนผ้าโดยการพิมพ์อีกด้วย

การพิมพ์สีลงไปในผ้า หรือที่เรียกว่าผ้าพิมพ์ (Printed Fabric)

ซึ่งผ้าพิมพ์นี้เป็นผ้าที่เกิดการให้สีหลังจากการทอเหมือนข้อข้างต้นแต่จะไม่ได้นำผ้าทั้งผืนลงไปย้อมในหม้อย้อม แต่จะใช้กระบวนการพิมพ์ซึ่งมีหลากหลาย ดังนี้

  • การพิมพ์แบบดิจิตอล (Digital Print) เปรียบเทียบง่ายๆ คือการพิมพ์ผ้าแบบ Inkjet ตรงลงบนตัวผ้าเลย การพิมพ์แบบนี้เป็นรูปแบบสมัยใหม่ได้สีสันมากตามต้องการในกระบวนการเดียว ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะต้นทุนในการพิมพ์ต่อหลายังสูงกว่าการพิมพ์ชนิดอื่น
  • การพิมพ์แบบฮีททรานเฟอร์ (Heat Transfer) หรือที่เรียกว่าการพิมพ์แบบรีดร้อน เป็นการพิมพ์แบบลงบนกระดาษก่อน แล้วจึงนำกระดาษนั้นประกบกับผ้าแล้วกดทับด้วยแรงกดและความร้อน ลายพิมพ์ดังกล่าวจะระเหิดมาติดลงบนผืนผ้าแทน การพิมพ์แบบนี้เป็นรูปแบบสมัยใหม่ได้สีสันมากตามต้องการในกระบวนการเดียว เป็นการพิมพ์ที่นิยมมากในอุตสาหกรรมปัจจุบัน
  • การพิมพ์ฉลุลายผ้า (Silk Screen) หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า การพิมพ์ซิลค์สกรีน เป็นการทำแบบลงบนบล็อกผ้าไหม ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ผ้าไหมจริงๆ เพราะเส้นไหมมีความละเอียด ทำให้ช่องว่างมีความถี่เหมาะกับการทำบล็อกสกรีน แต่ในปัจจุบันใช้เส้นใยสังเคราะห์แทน โดยใช้หลักการที่ว่า จะสร้างลวดลายในบล็อกสกรีนโดยให้ลวดลายที่ต้องการโปร่ง และให้ส่วนที่ไม่ต้องการเกิดลวดลายทึบ แล้วจึงนำไปทาบกับผืนผ้า จากนั้นจึงใช้ยางปาดสีให้ทะลุลงไปติดกับผ้าจนเกิดลวดลายขึ้นมา หนึ่งบล็อกต่อการพิมพ์ 1 สี ในอุตสาหกรรมใหญ่ที่พิมพ์ผ้าแบบนี้อยู่ ได้แก่ ผ้าโขมพัสตร์ เป็นต้น
  • การพิมพ์แบบโรตารี่ (Rotary Printing) เป็นการพิมพ์โดยแบบลวดลายจะปรากฏอยู่ที่ลูกกลิ้งทรงกระบอกยาวเท่ากับหน้าผ้าที่จะพิมพ์ แล้วลูกกลิ้งจะหมุนตัวไปรับหมึกสีที่จะพิมพ์ แต่ละสี ต่อหนึ่งลูกกลิ้ง กดและถ่ายทอดสีลงบนผืนผ้า การพิมพ์แบบนี้เป็นการพิมพ์ที่นิยมมากในอุตสาหกรรมปัจจุบัน

ไม่ว่าผ้านั้นๆ จะสร้างลวดลายด้วยกรรมวิธีใดๆ ก็ตาม ประเด็นความสำคัญคือความพึงพอใจของคุณที่มีต่อผ้าตัวนั้นๆ เป็นหลักนะจ๊ะ